ฟันปลอม
ฟันปลอม
ฟันปลอม คือ ฟันสังเคราะห์ที่มาทดแทนฟันจริงที่สูญเสียไป ทั้งจากอายุขัยของฟันที่หมดลงในบางรายของผู้ป่วย หรือจากอุบัติเหตุที่จำต้องสูญเสียฟันแท้ไป แม้ฟันปลอมอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยในการใช้งาน แต่ปัจจุบัน นวัตกรรมของการสร้างฟันปลอมก็ทำให้ฟันปลอมมีรูปลักษณ์และสัมผัสคล้ายฟันจริงมาก ทำให้ผู้ใช้งานคุ้นชินกับฟันปลอมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ฟันปลอม มีกี่แบบ ?
ฟันปลอม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ฟันปลอมแบบถอดได้บางส่วน สำหรับคนไข้บางรายที่ยังมีฟันจริงหลงเหลืออยู่ในช่องปาก สามารถทำฟันปลอมแบบถอดได้บางส่วนได้ โดยโครงฟันปลอมสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทตามความต้องการ ดังนี้
1.1. ฟันปลอมฐานพลาสติก ฟันปลอมประเภทนี้จะเหมาะสำหรับเป็นฟันปลอมชั่วคราว หรือผู้ป่วยที่มีฟันหายไปไม่มาก ซึ่งฐานพลาสติกจะค่อนข้างมีความหนา สำหรับผู้ใช้งานที่ยังไม่คุ้นชินในช่วงแรกอาจเกิดความรำคาญบ้าง แต่เมื่อใช้งานไปสักพักก็จะเริ่มปรับตัวได้
1.2. ฟันปลอมฐานยืดหยุ่น ฐานของฟันปลอมประเภทนี้ทำมาจากพลาสติกเช่นกัน แต่ประเภทของพลาสติกนั้นจะแตกต่างกับพลาสติกของฟันปลอมประเภทแรก เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ฟันปลอมทดแทนฟันจริงเพียง 1-2 ซี่
1.3. ฟันปลอมฐานโลหะ มีความแข็งแรงที่สุด ทนทาน ใช้เคี้ยวอาหารได้ดี ทั้งยังยึดเกาะฟันได้ดี ซึ่งสามารถใช้งานได้นาน โดยฐานโลหะจะมีความบางกว่าฐานพลาสติก แต่อาจใช้ระยะเวลาการทำฟันปลอมประเภทนี้หลายครั้งมากกว่าฐานพลาสติก โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการทำประมาณ 2-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนฟันที่หายไปของคนไข้
1.4. ฟันปลอมฐานโพลิเมอร์ (PEEK) มีความยืดหยุ่น แข็งแรง น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้โลหะ หรือไม่ต้องการให้เห็นสีโลหะ
- ฟันปลอมแบบถอดได้ทั้งช่องปาก สำหรับคนไข้รายที่ฟันหายไปทั้งหมด ทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง จำเป็นต้องทำฟันปลอมแบบถอดได้ทั้งช่องปาก มีลักษณะเป็นฟันปลอมฐานพลาสติก หรือมีการเสริมโครงโลหะที่ฐานฟันปลอมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการทำประมาณ 4 ครั้ง
- ฟันปลอมแบบติดแน่น สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการถอดฟันปลอมเข้า-ออก มีความเป็นธรรมชาติเหมือนฟันจริง
ฟันปลอมติดแน่นจะมี 2 ประเภท
1. สะพานฟัน : เหมาะสำหรับตำแหน่งที่ไม่สามารถใส่รากฟันเทียมได้ เนื่องจากมีข้อเสียคือ จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันข้างเคียง
2. รากฟันเทียม : มีความเป็นธรรมชาติ ลักษณะและการใช้งานเหมือนฟันจริง ไม่จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันข้างเคียง
ทั้งนี้ การเลือกประเภทฟันปลอม ต้องการประเมินร่วมกันทั้งสุขภาพช่องปากและความต้องการของคนไข้ เพื่อให้ได้ฟันปลอมที่ใช้งานได้ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคน
วิธีดูแลหลังใส่ฟันปลอมแบบถอดออกได้
- เริ่มใช้งานจากการเคี้ยวอาหารอ่อนๆก่อน
- อย่าคาดหวังว่าจะใช้ฟันปลอมในการเคี้ยวของแข็งๆ เช่น อ้อย ได้ เพราะเหงือกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- ระมัดระวังอาหารที่มีเม็ดเล็ก เช่น ถั่ว พริกป่น เพราะอาจเข้าไปอยู่ใต้ฐานฟันปลอม ทำให้เจ็บได้
- ระยะแรกอาจจะพูดไม่ค่อยชัด และจะดีขึ้นใน 2 สัปดาห์
- หากมีอาการเจ็บหรือผิดปกติ ให้กลับมาพบทันตแพทย์