ทันตกรรมสำหรับเด็ก (Pedodontics)
ทันตกรรมสำหรับเด็ก (Pedodontics)
ทันตแพทย์สำหรับเด็ก [Pedodontics] เป็นทันตกรรมสาขาหนึ่งซึ่งให้คำปรึกษา ดูแลรักษา ป้องกันปัญหา สุขภาพช่องปากและฟันแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 ปี ได้แก่ การขัดฟันเคลือบฟลูออไรด์, การผนึกหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ, การอุดฟัน, การรักษาโพรงประสาทฟัน, การครอบฟัน กรณีที่มีฟันผุ ลุกลามมาก, การถอนฟัน, การ X-ray ตรวจสุขภาพฟัน , การใส่เครื่องมือกันฟันล้มหรือเครื่องมือขยาย ช่องว่างสำหรับฟันแท้ การรักษาฟันเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อแม่ทุกคนจะต้องทำให้ถูกต้อง เพราะคุณพ่อแม่ทุกคนคาดหวังอยากจะให้ลูกมีสุขภาพดีและแข็งแรง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือต้องหมั่นพาลูกไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
ข้อดีของการรักษาฟันเด็ก
- เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้นในช่องปากแล้ว การดูแลรักษาฟันเด็กให้ดีตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม จะช่วยทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาฟันตัวเองและไม่กลัวหมอฟัน ซึ่งการมีฟันน้ำนมไว้เคี้ยวอาหารจะช่วยไม่ให้มีปัญหาในการพูดหรือการบดเคี้ยว และการขึ้นมาของฟันแท้ในอนาคตต่อไป
- นอกจากนี้หากเด็กมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดฟันผุในฟันแท้ ทำให้เป็นฟันแท้ที่แข็งแรง และยังช่วยประหยัดค่าทำฟันได้อีกมาก ถ้าเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาฟันเองเบื้องต้นได้
- หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มดูแลสุขภาพฟัน และรักษาฟันเด็กอย่างไร แนะนำให้พาเด็กไปพบกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อรับคำแนะนำในการทำความสะอาดช่องปากทั่วๆไป เช่น หลังจากที่รับประทานอาหาร หรือนมเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดฟันอย่างไร
แนวทางปฏิบัติในการดูแลฟันและสุขภาพปากของเด็ก
- หลังรับประทานอาหาร หากเป็นเด็กเล็กๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือยังไม่ถึงสองขวบ ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเพื่อนำไปเช็ดฟัน และกระพุ้งแก้มให้เด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและก่อนนอน
- เมื่อเด็กมีฟันเริ่มขึ้นหลายซี่แล้ว ควรแปรงฟันให้เด็กด้วยแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่มีขนอ่อนนุ่ม หรือสอนเด็กแปรงฟันด้วยตนเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องแปรงซ้ำจนกว่าเด็กอายุประมาณ 6-7 ขวบ เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรแปรงฟันให้เด็กหลังรับประทานอาหารเสริม หากเด็กกินนมผงก็ไม่ควรเลือกรสหวาน ในการเลือกอาหารว่าง ควรจะเลือกอาหารที่มีประโยชน์อย่างพวกผลไม้ แทนขนมหวาน หรือขนมขบเคี้ยวทั้งหลาย หมั่นตรวจ และสังเกตฟันเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูเหงือก และฟันว่าความสิ่งผิดปกติหรือไม่ หากพบคราบสกปรกให้ค่อยๆ เช็ดหรือแปรงออก
- หากพบว่าเด็กมีฟันสีขุ่นขาวหรือเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือมีรูที่คาดว่าน่าจะเป็นฟันผุ ควรรีบพาเด็กเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก